โครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรง
ปัจจุบันสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศมีการแพร่ระบาดในระดับที่น่าห่วงใย พบว่าผู้เสพยาเสพติดรายเดิมยังคงมีอยู่และผู้เสพรายใหม่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากข่าวสารที่เสนอต่อสาธารณชน คดีอาชญากรรมหลายประเภท เช่น คดีข่มขืน ฆ่า ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ทำร้ายร่างกาย ผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่เป็นผู้เสพยาเสพติด ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมหมู่บ้านและชุมชนทั่วไปเป็นตัวบ่อนทำลายความสงบสุขของประชาชนในการดำรงชีวิตมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้จึงมีแนวคิดว่าสังคมหมู่บ้านจะปลอดจากการแพร่ระบาดยาเสพติดปราศจากอาชญากรรมจะต้องให้ประชาชนในหมู่บ้านมีความเข้าใจและรับรู้ถึงพิษภัยที่เกิดขึ้นจากยาเสพติดและร่วมมือกันหยุดยั้งป้องกันการแพร่ยาเสพติดในหมู่บ้านของตนเองโดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายปกครองและฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นผู้คอยสนับสนุนช่วยเหลือในการดำเนินการดังนั้นเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านเป็นไปอย่างยั่งยืนจึงได้จัดทำโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรง
วัตถุประสงค์
- เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านที่มีปัญหาการแพร่ระบาดให้ลดน้อยลงจนถึงหมดไป
- เพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้เสพไม่ให้กลับไปเสพยาเสพติดซ้ำอีก
- เพื่อลดจำนวนผู้เสพและทำลายขบวนการผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้าน
- เพื่อสร้างความร่วมมือและความเข้มแข็งในการหยุดยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านอย่างยังยืน
- เพื่อลดปัญหาอาชญากรรมที่ต่อเนื่องจากปัญหายาเสพติดภายในหมู่บ้าน
เป้าหมาย
- ลดจำนวนผู้เสพและผู้ค้าภายในหมู่บ้าน
- เพิ่มจำนวนครัวเรือนปลอดยาเสพติดในหมู่บ้าน
- ลดปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดและอาชญากรรมในหมู่บ้าน
- หมู่บ้านมีความเข้มแข็งในการแก้ไข ปัญหายาเสพติดด้วยตนเอง
วิธีดำเนินการ
- จัดทำโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านโดยดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 จำนวน 85 แห่งใช้พื้นที่หมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรงทั่วประเทศเขตพื้นที่สถานีตำรวจ 85 สถานีหรือ 77 ภ.จว. และ บก.น.1-9
- แต่งตั้งคณะกรรมการโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรงเพื่อดำเนินการบริหารและติดตามการดำเนินการของพื้นที่ปฏิบัติทั้ง 85 พื้นที่ ให้คณะกรรมการออกตรวจติดตามในพื้นที่ปฏิบัติอย่างน้อยสามครั้งแบ่งเป็นห้วงเวลาตลอดโครงการ
- ให้ระดับกองบังคับการ/ตำรวจภูธรจังหวัด จัดทำคำสั่งแต่งตั้งชุดติดตามการปฏิบัติขึ้นมาหนึ่งชุดเพื่อติดตามและแนะนำสนับสนุนการปฎิบัติตามโครงการของ สภ. ที่มีพื้นที่ปฏิบัติการในเขตรับผิดชอบโดยการประกอบกำลังเจ้าหน้าที่จำนวนห้านายมีรองผู้บังคับการที่ได้รับมอบหมายเป็นหัวหน้าชุดให้เข้าพื้นที่สนับสนุนการปฏิบัติของ สภ. ในทุกเดือน ตลอดโครงการ
- ในการปฎิบัติตามโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรงให้ สภ. จัดทำคำสั่งประกอบกำลังเป็นชุดปฏิบัติการตามโครงการโดยมีกรอบกำลังพลเป็นตำรวจชุมชนสัมพันธ์ ครูแดร์ และตำรวจประสานโรงเรียน รวมเป็นชุดปฎิบัติและมีฝ่ายสนับสนุนตามที่หัวหน้าหน่วยเห็นเหมาะสมและมีกำลังประจำชุดไม่น้อยกว่าแปดนายและให้หัวหน้าสถานีตำรวจควบคุมการปฏิบัติด้วยตนเอง หน่วยระดับผู้กำกับการให้รองผู้กำกับการเป็นหัวหน้าชุด
- ให้ชุดปฏิบัติการดำเนินการในพื้นที่โดยใช้กรอบโครงสร้างที่กำหนดให้โดยที่หน่วยปฏิบัติสามารถเพิ่มเติมปรับเปลี่ยนวิธีการขั้นตอนห้วงเวลาได้โดยอิสระแต่ต้องไม่กระทบหรือเปลี่ยนแปลงเป้าหมายหลักของโครงการและให้ประสานความร่วมมือในการปฏิบัติกับหน่วยงานข้างเคียงในพื้นที่อย่างใกล้ชิดตั้งแต่เริ่มดำเนินการโครงการในห้วงที่หนึ่งช่วงต้นน้ำโดยให้เชิญตัวแทนของหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหายาเสพติดเข้ามาเป็นคณะทำงานบูรณาการในพื้นที่เช่น ทหาร ฝ่ายปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน สาธารณสุข ครูอาจารย์ท้องถิ่นพัฒนาชุมชน และอื่นๆที่เหมาะสมมีแนวทางการดำเนินการสามห้วงเวลาดังนี้
# การดำเนินการช่วงต้นน้ำ พบปะผู้นำ สืบสภาพชุมชน และประกาศวาระชุมชน (มีนาคม - พฤษภาคม 2561)
- การประชุมคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรงชี้แจงแนวทางการปฏิบัติ (ส่วนกลาง)
- กำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ
- ฝ่ายปราบปรามสืบสวนหาข้อมูลผู้ค้าหรือเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติด และจับกุมผู้ค้ายาเสพติดและเครือข่ายกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด
- การประชุมคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรงพบปะ ทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนประชุมผู้นำเพื่อชี้แจงภารกิจแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการประกาศวาระหมู่บ้านในพื้นที่การปฎิบัติ (ประชาคมครั้งที่หนึ่ง)
- ลงนามสัญญาประชาคม(MOU)
- ปฏิบัติการสำรวจครัวเรือนทำแผนที่/สืบสภาพชุมชน/ค้นหาผู้เสพ/จัดทำข้อมูลผู้เสพ
- สำรวจปัญหาและความพึงพอใจของประชาชนในหมู่บ้านครั้งที่หนึ่ง
- นำผู้เสพเข้าสู่ระบบการบำบัดตามประกาศ คสช.ที่ 108/2557 แก้ไขใหม่ปี 2560
- ครู D.A.R.E. และตำรวจชุมชนสัมพันธ์สร้างองค์ความรู้ในการป้องกันแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและสร้างความร่วมมือของชุมชน
- ชุดปฏิบัติการติดตามสนับสนุนระดับ ภ.จว. ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่
- คณะกรรมการโครงการออกตรวจติดตามในพื้นที่การปฏิบัติจริง
- ผู้ปฏิบัติ ตำรวจ ทหาร ปกครอง ท้องถิ่น สาธารณสุข อสม. โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
# การดำเนินการช่วงกลางน้ำ ติดตามการบำบัด ควบคุมดูแลผู้เสพ และสร้างความร่วมมือจากชุมชน (มิถุนายน - สิงหาคม 2561)
- การประชุมคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรงร่วมกับชุมชนติดตามการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติดติดตามควบคุมดูแลไม่ให้ผู้เสพกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ (ในพื้นที่การปฎิบัติ ประชาคมครั้งที่สอง)
- ครูตำรวจ D.A.R.E. และตำรวจชุมชนสัมพันธ์สร้างองค์ความรู้ในการป้องกันปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านและสร้างความร่วมมือของชุมชนจัดตั้งชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเป็นผู้ช่วยในการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตรวจตรารักษาความสงบและป้องกันผู้ค้าผู้เสพจากภายนอกเข้ามาในหมู่บ้าน
- ปฎิบัติการค้นหาและชักจูงผู้เสพเข้าสู่การบำบัดและเฝ้าระวังสืบสวนจับกุมผู้ค้ายาเสพติดและผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด ผู้สนับสนุน ช่วยเหลือ อย่างต่อเนื่อง
- ชุดปฎิบัติติดตามสนับสนุนระดับ ภ.จว. ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติในพื้นที่
- คณะกรรมการโครงการออกตรวจติดตามประเมินผลการปฏิบัติในพื้นที่การปฏิบัติจริง
- ผู้ปฏิบัติ ทหาร ตำรวจ ปกครอง ท้องถิ่น สาธารณสุข อสม. โรงพยาบาล หน่วยเกี่ยวข้องอื่นๆ
# การดำเนินการช่วงปลายน้ำ ปรับสภาพแวดล้อม สร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน (กันยายน - ธันวาคม 2561)
- การประชุมคณะทำงานโครงการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดินที่มีปัญหารุนแรงร่วมกับชุมชนติดตามการบำบัดรักษาผู้เสพยาเสพติด ติดตามควบคุม ดูแลไม่ให้ผู้เสพกลับไปใช้ยาเสพติดซ้ำ รับรองครัวเรือนปลอดยาเสพติด (ในพื้นที่การปฎิบัติประชาคมครั้งที่สาม)
- ปรับสภาพแวดล้อมชุมชนให้เหมาะสมในการควบคุมอาชญากรรมและยาเสพติด
- การสร้างภูมิคุ้มกัน ในทั้งในมิติเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา นอกสถานศึกษา ประชาชนทั่วไป ผู้ใช้แรงงาน การใช้มาตรการทางสังคมในชุมชน
- กดดันจับกุมผู้ค้าผู้เกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ค้ายาเสพติดอย่างต่อเนื่องขยายผลเครือข่ายที่เกี่ยวข้องและยึดทรัพย์สิน
- สร้างคณะกรรมการหมู่บ้านให้เข้มแข็งสามารถรับภารกิจแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้านเพื่อดำเนินการต่อโดยมีหน่วยงานราชการสนับสนุนการปฎิบัติรักษาสภาพพื้นที่ติดตามควบคุมพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านกระบวนการเฝ้าระวังสร้างเครือข่ายและดำรงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่อย่างสม่ำเสมอ
- สำรวจปัญหาและความพึงพอใจของประชาชนในหมู่บ้านครั้งที่สอง
- ชุดปฎิบัติติดตามสนับสนุนระดับ ภ.จว. ช่วยสนับสนุนการปฎิบัติในพื้นที่
- คณะกรรมการโครงการออกตรวจติดตามประเมินผลการปฏิบัติในพื้นที่การปฏิบัติจริง
- ผู้ปฏิบัติ ตำรวจ สาธารณสุข ปกครอง ท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พัฒนาชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ให้ ศอ.ปส.ภ.1-9 / บช.น. รวบรวมผลการดำเนินการตามแบบรายงานทุกวันที่ 15 ของเดือนและผลการสำรวจปัญหาและความพึงพอใจของประชาชนเมื่อเริ่มและหลังจบโครงการมายังฝ่ายป้องกันอาชญากรรม กองอำนวยการกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด และให้ฝ่ายป้องกันอาชญากรรมรวบรวมผลการดำเนินการรวมถึงผลการสำรวจปัญหาและความพึงพอใจของประชาชนในหมู่บ้าน เมื่อเริ่มโครงการและหลังจบโครงการพร้อมทั้งนำผลมาวิเคราะห์นำเสนอคณะกรรมการโครงการทราบทุกเดือน
การประเมินและติดตามผล
- ร้อยละของผู้เสพยาเสพติดในหมู่บ้านลดลง
- ร้อยละของผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้านลดลง
- ร้อยละของครัวเรือนที่ปลอดยาเสพติดในหมู่บ้านเพิ่มขึ้น
- ประเมินผลระดับความพึงพอใจของประชาชนในหมู่บ้านต่อปัญหายาเสพติด
ระยะเวลาดำเนินการ
- ตั้งแต่เดือนมีนาคม - ธันวาคม 2561
งบประมาณ
- ขอสนับสนุนงบประมาณดำเนินการจากกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
ผลที่คาดว่าจะได้รับ
- ทำให้เกิดการหยุดยั้งการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านที่มีปัญหาการแพร่ระบาดให้ลดน้อยลงจนถึงหมดไป
- สามารถควบคุมพฤติกรรมผู้เสพไม่ให้กลับไปเสพยาเสพติดซ้ำอีก
- สามารถลดจำนวนผู้เสพและทำลายขบวนการผู้ค้ายาเสพติดในหมู่บ้าน
- ทำให้เกิดความร่วมมือและความเข้มแข็งในการหยุดยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดยาเสพติดในหมู่บ้านอย่างยั่งยืน
- สามารถลดปัญหาอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องจากปัญหายาเสพติดภายในหมู่บ้าน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น